เมื่อจีนร่างแผนพัฒนาก้าวข้ามสหรัฐฯ

ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร
รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน และอุปนายกและเลขาธิการ สมาคมส่งเสริมการลงทุนและการค้าไทย-จีน

ในช่วงปีที่ผ่านมา เราได้เห็นจีนสร้างความตื่นตะลึงสารพัดการพัฒนาบนโลกใบนี้ ไม่ว่าจะเป็นการกำหนดเป้าหมายการขยายตัวทางเศรษฐกิจในเบื้องต้นโดยไม่สนใจผลสรุปของสงครามการค้ากับสหรัฐฯ ในช่วงสิ้นปีที่แล้ว การสยบวิกฤติโควิด-19 แบบเบ็ดเสร็จ และการทดลองใช้เงินหยวนดิจิตัลหลังหลุดพ้นวิกฤติโควิด-19 ในระยะแรก

หรือแม้กระทั่งการออกกฎหมายด้านความมั่นคงเพื่อเรียกคืนความมั่นคงกลับสู่ฮ่องกง การเดินหน้ามาตรการและกิจกรรมกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย และการเร่งดำเนินโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวกให้เสร็จเร็วกว่าแผนงานเดิมที่กำหนดไว้
มาถึงวันนี้ จีนมองไกลไปกว่าการพลิกฟื้นเศรษฐกิจให้กลับมาเติบโตเป็นบวก และการขจัดความยากจนให้หมดสิ้นแผ่นดินจีนในปี 2020 เท่านั้น เพราะพรรคคอมมิวนิสต์จีนกำลังเร่งสรุปแผนพัฒนา 5 ปีฉบับที่ 14 (2021-2025) และแผนระยะยาวที่จะกำหนดแนวทางหลักในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศจนถึงปี 2035 ที่จะก้าวข้ามสหรัฐฯ กันแล้ว

ในการร่างแผนทั้งสองดังกล่าว ท่านสี จิ้นผิง (Xi Jinping) เห็นว่า แผนพัฒนาที่ดีควรสะท้อน “ภูมิปัญญาของภาคประชาชน” ทำให้เราเห็นเป็นครั้งแรกที่พรรคคอมมิวนิสต์รุกสร้างกลไกในการรวบรวมมุมมองและความคิดเห็นดี ๆ จากหลากหลายกลุ่มในวงกว้าง โดยมิได้จำกัดอยู่เฉพาะสมาชิกพรรคดังเช่นที่ผ่านมา

ข้อมูลที่ได้รับจะเป็นประโยชน์อย่างมากต่อการร่างแผน 5 ปีและแผนระยะยาวที่เหมาะสมแห่งโลกอนาคต ก่อนที่จะนำเสนอร่างต่อที่ประชุมคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์ชุดที่ 19 ครั้งที่ 5 ที่คาดว่าจะจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 26-29 ตุลาคม ศกนี้ ณ มหาศาลาประชาคม ใจกลางกรุงปักกิ่ง
หนังสือพิมพ์พิเพิ้ลส์เดลลี่ (People’s Daily) หนึ่งในกระบอกเสียงใหญ่ของพรรคและรัฐบาลจีน ได้ทำวิจัยสอบถามความเห็นผ่านโลกออนไลน์ว่า ภาคประชาชนอยากเห็นแผนพัฒนาประเทศในอนาคตครอบคลุมถึงประเด็นอะไรบ้าง ซึ่งผลปรากฏว่า สวัสดิการสังคม การจ้างงาน การศึกษา และสิ่งแวดล้อม รวมทั้งสนับสนุนการพัฒนารถไฟความเร็วสูง นำโด่งมาตามลำดับ

สำนักข่าวซินหัว (Xinhua News Agency) ก็สร้างเวทีออนไลน์เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนได้แสดงความคิดเห็นอย่างสร้างสรรค์ถึง 23 หัวข้อ ซึ่งแต่ละหัวข้อเต็มไปด้วยความท้าทายอย่างมาก อาทิ การพัฒนาพรรคคอมมิวนิสต์ การทูตระหว่างประเทศ การก้าวขึ้นเป็นประเทศที่ยิ่งใหญ่ การป้องกันประเทศ การทหาร ฮ่องกง มาเก๊า และไต้หวัน

ขณะเดียวกัน นักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญจากหลายภาคส่วนของจีนก็เข้ามามีบทบาทในเชิงรุกผ่านเวทีการประชุมหารือ และรูปแบบอื่น
จัสติน หลิน อี้ฟู (Justin Lin Yifu) ศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยปักกิ่ง ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งเป็นหัวหน้าทีมเศรษฐกรแห่งธนาคารโลก และโด่งดังคับฟ้าในชั่วข้ามคืนภายหลังการให้ข่าวผลการวิจัยของตนเองที่คาดการณ์ไว้ว่า จีนจะแซงหน้าสหรัฐฯ ขึ้นเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลกได้ในปี 2030 กล่าวถึง ผลการประชุมของผู้บริหารระดับสูงและผู้เชี่ยวชาญของพรรคเมื่อเดือนสิงหาคม ที่ผ่านมา ซึ่งมีท่านสี จิ้นผิง เป็นประธานว่า เพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาเชิงคุณภาพในระดับที่สูง ที่ประชุมกำหนดให้ใช้กลยุทธ์ “วงจรคู่” (Dual Circulation) ที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาภายในประเทศควบคู่ไปกับความร่วมมือระหว่างประเทศ

ในวงจรหนึ่ง จีนจะให้ความสำคัญกับ “กำลังภายใน” โดยมุ่งเน้นการเติบโตจากภายในให้มากยิ่งขึ้น อันที่จริง เรื่องนี้ก็ไม่ใช่เรื่องใหม่แต่อย่างใด เพราะตลอดหลายปีที่ผ่านมา จีนโดยเฉพาะในยุคของท่านสี จิ้นผิงได้พูดถึง “การเติบโตในดุลยภาพใหม่” ที่มีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจในระดับปานกลาง และปรับเปลี่ยนจากการเติบโตในเชิง “ปริมาณ” ไปสู่เชิง “คุณภาพ” มาโดยลำดับ

ขณะเดียวกัน จีนในยุคใหม่ก็ยกระดับความสำคัญของการพัฒนาในด้านอื่นอย่างคาดไม่ถึง อาทิ สิ่งแวดล้อม ความยั่งยืน และการครอบคลุมทุกกลุ่มคน ซึ่งสะท้อนผ่านนโยบายการต่อต้านและปราบปรามคอรัปชั่น การแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ และการขจัดความยากจน

พรรคคอมมิวนิสต์จับกระแสความรู้สึกของภาคประชาชนเก่ง และตระหนักดีว่าการให้ความสำคัญกับ “กำลังภายใน” ในทุกมิติจะช่วยประสานช่องว่างและลดปัญหาความเปราะบางของสภาพเศรษฐกิจและสังคมภายในประเทศที่หลายฝ่ายกังวลใจก่อนหน้านั้นได้เป็นอย่างดี

จึงไม่น่าแปลกใจที่เราเห็นท่านเหยา จิ่งหยวน (Yao Jingyuan) ที่ปรึกษาประจำคณะรัฐมนตรีจีนให้ความเห็นว่า อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่จีนใช้เป็นเป้าหมายเชิงนโยบายหลักเพียงหนึ่งเดียวของรัฐบาลจีนในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา จะมีบทบาทน้อยลงในแผน 5 ปีฉบับที่ 14 และแผนระยะยาว

ท่านชิว เป่าซิ่ง (Qiu Baoxing) อีกหนึ่งในที่ปรึกษาประจำคณะรัฐมนตรีจีนยังได้กล่าวไว้ว่า แผนพัฒนาในอนาคตควรจะให้ความสำคัญกับการเพิ่ม “ความเสมอภาพ” มากกว่า “ประสิทธิภาพ” อีกด้วย โดยจะจัดลำดับความสำคัญของ “ผลประโยชน์เชิงสังคม” ก่อน “ผลตอบแทนการลงทุน”
การประกาศเป้าหมายระยะยาวให้จีนมีความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี 2060 หรือในราว 40 ปีข้างหน้า เมื่อเร็วๆ นี้ก็เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งที่ดี แม้ว่านั่นจะหมายถึงการปรับเปลี่ยนหลายอย่างในภาคเศรษฐกิจและสังคมของจีนก็ตาม

ในอีกวงจรหนึ่ง นอกจากจีนจะต้องสนับสนุนหลักการ “เปิดกว้างและปฏิรูป” ของเศรษฐกิจของตนเองแล้ว จีนยังคงต้องผลักดันระบบ “เศรษฐกิจแบบเสรี” ในเวทีระหว่างประเทศ เพื่อเอาประโยชน์จากความได้เปรียบในเวทีระหว่างประเทศ และรักษาสถานะของการเป็นศูนย์กลางของห่วงโซ่อุปทานระหว่างประเทศ

ดังนั้น ในความพยายามที่ต้องการเพิ่มระดับการพึ่งพาจากภายในดังกล่าว หรือที่ชัดเจนก็คือ การลดระดับการพึ่งพาเทคโนโลยีและตลาดส่งออกของสหรัฐฯ จีนจำเป็นต้องขยายความร่วมมือกับประเทศอื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภูมิภาคเอเซียและยุโรปเอาไว้เพื่อชดเชยกับการ “ห่างเหิน” จากสหรัฐฯ
ผมจึงเชื่อมั่นว่า จีนยังคงต้องขยายผลอีกครึ่งทางที่เหลืออยู่ของการดำเนินนโยบาย Made in China 2025 โดยควรเร่งพัฒนาหลายอุตสาหกรรมสำคัญที่จำเป็นสำหรับการ “ยืนบนลำแข้งของตนเอง” ให้เกิดเป็นรูปธรรม อาทิ เซมิคอนดักเตอร์ และเตรียมวางแผนสำหรับอุตสาหกรรมหลังปี 2025
การดำเนินนโยบายดังกล่าวในอีกด้านหนึ่งก็ซ่อนไว้ซึ่งความเสี่ยงของการลงทุนที่เกินตัว อุปทานส่วนเกิน และหากไม่สำเร็จก็อาจหมายรวมถึงการสูญเปล่าด้านทรัพยากร แต่ในมุมมองของผมแล้ว ข้อห่วงใยเหล่านี้ก็คงไม่อาจหยุดยั้งความมุ่งมั่นของจีนที่จะบรรลุเป้าหมายดังกล่าวได้

นอกจากนี้ จีนยังอาจต้อง “เตรียมใจ” เผชิญกับความท้าทายจากปัจจัยภายนอกที่ไม่สามารถควบคุมได้ในระดับที่สูงขึ้น
ก่อนหน้านี้ เราได้เห็นแรงกดดันในหลายด้าน อาทิ ประเด็นทางการเมืองเกี่ยวกับทิเบต ซินเกียง ไต้หวัน และฮ่องกง การฟื้นคืนชีพของมาตรการกีดกันทางการค้า การเผชิญหน้าทางการเมืองในเวทีโลก และความขัดแย้งของเส้นพรมแดนกับประเทศเพื่อนบ้าน หรือแม้กระทั่งการบีบให้หัวเหว่ยและติ๊กต็อกขายธุรกิจในสหรัฐฯ

นี่คงไม่ใช่กรณีสุดท้าย และหากเราผนวกเรื่อง “จังหวะเวลา” ที่การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ กำลังเข้าสู่โค้งสุดท้ายเข้าด้วยแล้ว ท่านผู้อ่านคงเห็นด้วยกับผมว่า จีนจะต้องเผชิญกับแรงบีบคั้นที่มากขึ้นอย่างแน่นอน

คู่แคนดิเดตจากสองพรรคหลักของสหรัฐฯ คงต้องใช้ทุกวิถีทางในการเรียกคะแนนเสียงจากทุกเวที โดยเฉพาะอย่างยิ่งการดีเบตและการปราศรัยใหญ่ และหนึ่งใน “แพะ” ตัวใหญ่ของเวทีเศรษฐกิจและการเมืองระหว่างประเทศก็คงหนีไม่พ้นจีนเป็นแน่แท้
ดังนั้น จีนจึงต้องให้ความสำคัญกับ “กำลังภายนอก” โดยพยายามประสานความร่วมมือระหว่างประเทศเอาไว้อย่างพอเหมาะพอดี เข้าทำนอง “อ่อนไปก็ไม่ได้ แข็งไปก็ไม่ดี”

จึงไม่น่าแปลกใจที่ท่านหยวน หนานเชิง (Yuan Nansheng) อดีตเลขาธิการพรรคประจำมหาวิทยาลัยการต่างประเทศของจีน (China Foreign Affairs University) ซึ่งเป็นสถาบันการศึกษาด้านการต่างประเทศชั้นนำของจีน ได้ให้ข้อคิดไว้อย่างน่าสนใจว่า จีนควรอดทนรักษา “เสถียรภาพ” ของความสัมพันธ์ และพยายามอย่างที่สุดที่จะหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้ากับสหรัฐฯ เพราะท่านคงไม่อยากเห็น 40 ปีของการพัฒนาอย่างรวดเร็วของจีนต้องหยุดชะงักหรือสูญเปล่าไป

การกำหนดกลยุทธ์ “วงจรคู่” ในแผนพัฒนา 5 ปีฉบับที่ 14 และฉบับถัดไปดังกล่าวไม่ใช่แนวทางการพัฒนาระยะสั้นเพื่อเอาชนะวิกฤติโควิด-19 แต่เป็นเสมือนภาคสองและภาคต่อไปของแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมจีนในยุคของท่านสี จิ้นผิง

ประการสำคัญ การกำหนดจัดประชุมใหญ่เพื่อพิจารณาแผนทั้งสองดังกล่าวในช่วงก่อนหน้าการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ เพียงไม่กี่วัน อาจบ่งบอกได้อีกทางหนึ่งว่า จีนในวันนี้ได้ “ก้าวข้าม” ความท้าทายจากมหาอำนาจเดิมอย่างสหรัฐฯ โดยพร้อมจะกำหนดทิศทางและแนวทางในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไปเรียบร้อยแล้ว

แต่คาดว่าท่านผู้อ่านอาจต้องรอจนถึงสิ้นเดือนมีนาคม 2021 กว่าที่รัฐบาลจีนจะเปิดเผยแผนดังกล่าวต่อสาธารณชนอย่างเป็นทางการ … อดใจรอหน่อยนะครับ


Check out our latest

Stories